GIS_ONLINE ::

board_d_back.gif

 

การสำรวจเพื่อทำแผนที่

1. ความมุ่งหมาย
     
ในการศึกษาแผนที่นั้น ผู้อ่านหรือผู้ใช้จำเป็นจะต้องทราบรายละเอียดและความถูกต้องในแง่ต่างๆ ในแผนที่ เช่น การหาทิศทาง ระดับความสูงและตำแหน่งที่แท้จริงบนผิวโลก จึงจำเป็นที่จะต้องให้มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสำรวจ เพื่อทำแผนที่

2. งานสำรวจทางยีออเดซี ( Geodesy )
     
เนื่องจากโลกมีลักษณะเป็นรูป Spheroid ทำให้หลักเกณฑ์และวิธีการสำรวจยุ่งยากขึ้น ดังนั้นถ้าหากต้องการจะสำรวจแผนที่ให้ถูกต้องจริง ๆ แล้ว จำเป็นต้องคำนึงถึงความโค้งของผิวโลกด้วย ในการสำรวจเพื่อทำแผนที่ โดยคำนึงถึงความโค้งของผิวโลกนี้เราเรียกว่า การสำรวจ ทางยีออเดซี (Geodesy) ซึ่งการสำรวจโดยวิธีนี้ มีวิธีการหลายอย่างเช่น Triangulation, Traverse, Gravity ฯลฯ วิธีการเหล่านี้ จะทำให้เราทราบถึงขนาด ( Size ) รูปร่าง ( Shape ) ของโลกเราได้

3. การสำรวจแบบราบ ( Plane Servey )
     
เป็นการสำรวจเพื่อทำแผนที่ ในบริเวณที่ไม่กว้างขวางมากนัก เนื่องจากในระยะทางใกล้ ๆ นั้น ส่วนโค้งของโลกมีน้อยมาก คือระยะทางบนพื้นโลกประมาณ 4 ก.ม. จะเป็นเส้นตรง จนทำให้เราสังเกตไม่เห็นส่วนโค้ง เปรียบเสมือนว่าผิวโลกบริเวณนั้นแบนราบ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ความยุ่งยากในการสำรวจน้อยลง

4. การจัดทำหมุดหลักฐาน ( Control Point )
     
หมุดหลักฐาน คือ จุดที่เลือกขึ้นในภูมิประเทศ เพื่อใช้เป็นโครงสร้างของการทำแผนที่นั่นเอง ถ้าเป็นการหาตำแหน่งที่ทำการสำรวจหาตำบลที่แน่นอนไว้ เรียกว่า หมุดหลักฐานทางแนวนอน หรือทางราบ ( Horizontal Control ) แต่ถ้าเป็นจุดที่ทำการสำรวจหาระดับสูงที่แน่นอนไว้ ก็เรียกว่า หมุดหลักฐานทางแนวยืน หรือทางดิ่ง ( Vertical Control )
     ในการสำรวจเพื่อวางหมุดหลักฐาน เพื่อหาระดับความสูงและหาตำบลที่ในภูมิประเทศ เป็นงานที่มีการจัดลำดับความละเอียดถี่ถ้วนของผลงานไว้เป็นขั้น ๆ คือ ถ้าผลงานมีความละเอียด สูงเยี่ยม เรียกว่า งานขั้นที่ 1 ( First Order ) ถ้ามีความละเอียดรองลงมา เรียกว่า งานขั้นที่ 2 ( Second Order ) และเป็นงานขั้นที่ 3 ( Third Order ) และขั้นที่ 4 ตามลำดับ 
     หมุดหลักฐานในงานขั้นที่ 1,2 และ 3 ถือเป็นหมุดหลักฐานหลัก ซึ่งจะวางไว้ตามตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั่วประเทศเพื่อเป็นหลักในการวางหมุดหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งเรียกว่าหมุดหลักฐานย่อย ซึ่งใช้ประโยชน์ในกิจการเฉพาะอย่าง เช่น การสำรวจทางอุทกศาสตร์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการทำหน้าที่วางหมุดหลักฐานหลัก คือ กรมแผนที่ทหาร

4.1 การวางหมุดหลักฐานในแนวนอน ( Horizontal Control )
     ในการวางหมุดหลักฐาน เพื่อการสำรวจทำแผนที่บริเวณหนึ่งบริเวณใดนั้น ความหนาแน่นของหมุดหลักฐานย่อมทำให้การทำแผนที่มีความถูกต้องในด้านทิศทาง และตำแหน่งมีมากขึ้น ในการวางหมุดหลักฐานหลักจึงจำเป็นต้องวางในที่ ๆ สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ยอดเขา ทางแยกของถนน คอสะพาน ฯลฯ
     การวางหมุดหลักฐานในแนวนอนนั้น เมื่อได้วางหมุดหลักฐานหลักตามจุดต่าง ๆ แล้วก็ทำการรังวัดเชื่อมโยงจุดต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เป็นรูปทรงทางเรขาคณิต แล้วนำผลของการรังวัดเพื่อหาตำแหน่งใช้เป็นหมุดหลักฐานต่อไป

4.2 การวางหมุดหลักฐานในแนวยืน ( Vertical Control )
     
เป็นการสำรวจเพื่อควบคุมความถูกต้องในระดับสูง เรียกว่า งานระดับ ( Leveling ) ซึ่งเป็นวิธีหาระยะความสูงตามแนวยืนของจุดต่าง ๆ บนพื้นโลก

 5. งานโครงข่ายสามเหลี่ยม ( Triangulation )
     
คือ การทำรังวัดรูปสามเหลี่ยมในภูมิประเทศ แล้วนำผลของการรังวัดไปคำนวณจนได้ตำแหน่งในภูมิประเทศตามจุดนั้นๆ ตามวิธีทางเรขาคณิตเราพบว่า สามเหลี่ยมรูปหนึ่ง เมื่อรู้ด้าน 1 ด้านและมุม 2 มุม สามารถคำนวณหาด้านที่สามได้ ก่อนอื่นจำเป็นต้องกำหนดเส้นฐาน ( Base line ) ขึ้นก่อนในพื้นราบ

6. งานวงรอบ ( Traverse Line )
     
เป็นการวางหมุดหลักฐานในแนวนอนวิธีหนึ่ง บริเวณที่เป็นพื้นราบ คือ เมื่อได้เลือกจุดในภูมิประเทศที่จะวางเป็นหมุดหลักฐานแล้ว ก็เชื่อมโยงจุดเหล่านี้เข้าด้วยกันด้วยแนวตรงไปเป็น ทอด ๆ ลัดเลาะต่อเนื่องกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ เรียกว่า เส้นวงรอบ ซึ่งประกอบด้วยการวัดความยาวของเส้นตรงแต่ละแนว และมุมราบระหว่างแนวตรงเป็นคู่ ๆ ไป

7. การสำรวจเพื่อลงรายละเอียดในแผนที่
     
คือการเขียนลวดลายแสดงรายละเอียดของภูมิประเทศลงในแผ่นกระดาษ เพื่อให้เกิดแผนที่ขึ้น โดยมีหมุดหลักฐานที่ได้สำรวจไว้แล้ว เป็นเครื่องยึดโยงให้รายละเอียดนั้นถูกต้อง โดยการสร้างเส้นขนานและเส้นเมอริเดียนลงในกระดาษ ตามลักษณะของเส้นโครงของแผนที่แบบที่เลือกขึ้นใช้ แล้วเขียนจุดที่เป็นหมุดหลักฐานทางแนวนอนลงไป ในเส้นโครงแผนที่นั้นให้ตรงตามตำบลที่ตั้ง จากนั้นก็ใช้จุดเหล่านั้นเป็นกรอบสำหรับโยงยึดรายละเอียดต่าง ๆ อีกทีหนึ่ง ส่วนการโยงยึดทางแนวยืนขอบภูมิประเทศที่มีความสูง เช่น บริเวณพื้นที่ภูเขาให้ใช้ค่าระดับสูงของหมุดหลักฐานเป็นกรอบในการหาระดับสูงของจุดต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการอ่านลักษณะความสูงต่ำของ ภูมิประเทศ และต่อการเขียนเส้นชั้นความสูง

8. การสำรวจทางอากาศ เพื่อทำแผนที่    
     
หมายถึง การสำรวจรายละเอียดของภูมิประเทศ โดยการถ่ายรูป ซึ่งเป็นการใช้กล้องถ่ายรูป หรือเครื่องมืออีเล็กโทรนิกส์อื่น ๆ ที่สามารถถ่ายรูปจากที่สูงได้ แล้วนำข้อมูลจากภาพถ่ายไปตีความหมาย เพื่อนำไปทำแผนที่ต่อไ

9. การสำรวจทาง Remote Sensing เพื่อทำแผนที่

เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ร่วมกับเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ก็ได้รับการประยุกต์เข้ากับงานแผนที่ ทั้งนี้จะเห็นว่าในกิจการทุกสาขาต้องมีแผนที่เป็นเครื่องนำทาง จึงได้มีการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายจากดาวเทียมนำมาใช้ในการทำแผนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการสำรวจทรัพยากร ซึ่งจะได้ผลงานรวดเร็วกว่า ทันสมัยกว่า ถูกต้องและประหยัดกว่า

 

 

        ที่มา   
                   
อุดม   ศิริปัญญา . แผนที่ I Cartography I .