คนกรุงป่วยท้องร่วงพุ่ง ช่วงหน้าร้อน ชี้สาเหตุกินอาหารริมฟุตบาท

            นายมาโนชญ์ ลีโทชวลิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน  ซึ่งในหลายพื้นที่รวมทั้งกรุงเทพฯ อาจจะต้องประสบกับอากาศที่ร้อนมากและอาจสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส โดยสภาพอากาศดังกล่าวอาจส่งผลให้คนกรุงเทพฯป่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากระบบทางเดินอาหาร ทั้งโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และโรคไข้รากสาดน้อยหรือไทฟอยด์

            รองปลัด กทม.กล่าวว่า จากสถิติผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อสำคัญที่เข้ามารับการรักษาโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 9 แห่ง ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2549 พบว่า มีประชาชนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงมากที่สุด จำนวน 3,549 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.89 รองลงมาคือ วัณโรคปอด (ที่ตรวจพบเชื้อ) จำนวน 1,728 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.8 ป่วยเป็นไข้ หรือเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ จำนวน 1,010 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.81  โรคปอดบวม 530 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.47 และไข้เลือดออก 367 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.02 ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียขยายตัวง่ายกว่าสภาพอากาศที่เย็น จึงส่งผลให้ประชาชนเกิดอาการท้องเสียได้ง่าย โดยเฉพาะอาหารที่ขายอยู่ตามริมฟุตบาท

            เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากโรคดังกล่าว อยากให้ประชาชนล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหารหรือรับประทานอาหาร และควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก และที่สำคัญต้องหมั่นกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรอบๆบริเวณบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน นายมาโนชญ์กล่าว

            นายมาโนชญ์กล่าวว่า นอกจากนี้โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่ประชาชนควรเฝ้าระวัง เนื่องจากในปี 2549 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว 1 ราย ที่เขตลาดกระบัง ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาไม่เคยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวในกรุงเทพฯเลย อย่างไรตาม ในปีนี้ กทม.ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดนก ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ เมื่อถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆครั้ง จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที 

มติชน ฉบับวันที่ 12 มี.ค. 50